โควิด-19 ติดเชื้อเพิ่ม 1 คน เชฟไทยมาจากบาห์เรน

ดู 2,780 ครั้ง
ประจำวันที่ 20 พฤษภาคม 2563

 

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) รายงานสถานการณ์ผู้ป่วยโควิด-19 พบว่าวันนี้มีรายงานผู้ป่วยรายใหม่เพิ่ม 1 ราย รวมมีผู้ป่วยสะสม 3,034 ราย และไม่พบผู้เสียชีวิตเพิ่มเติม ยังคงอยู่ที่ 56 ราย วันนี้ มีผู้ป่วยกลับบ้านสะสม 2,888 ราย ยังรักษาในโรงพยาบาล 90 ราย

ส่วนรายละเอียดของผู้ป่วยรายใหม่ คือ เป็นผู้ป่วยที่เดินทางมาจากต่างประเทศ และเข้า State Quarantine 1 ราย เป็นชายไทยอายุ 45 ปี ประกอบอาชีพเป็นเชฟในร้านอาหารที่บาห์เรน เดินทางกลับมาจากประเทศบาห์เรนถึงไทยเมื่อวันที่ 15 พ.ค. 63 ก่อนจะตรวจพบเชื้อระหว่างเข้าพัก State Quarantine ในกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 18 พ.ค. ที่ผ่านมา

สำหรับสถานการณ์โควิด ทั่วโลกวันนี้ ยอดผู้ติดเชื้อสะสมทั่วโลก 4,986,332 ราย เสียชีวิต 342,910 ราย และรักษาหายแล้ว 1,957,902 ราย ประเทศไทยมียอดผู้ป่วยสะสมอยู่อันดับที่ 70 ของโลก 6 ประเทศที่มีผู้ติดเชื้อมากที่สุดในโลก คือ

1.สหรัฐอเมริกา ติดเชื้อ 1,570,583 ราย
2.รัสเซีย ติดเชื้อ 299,941 ราย
3.สเปน ติดเชื้อ 278,803 ราย
4.บราซิล ติดเชื้อ 271,885 ราย
5.สหราชอาณาจักร ติดเชื้อ 248,818 ราย
6.อิตาลี ติดเชื้อ 226,699 ราย

สำหรับสถิติการใช้งานแพลตฟอร์ม “ไทยชนะ” ที่ใช้ในการเช็กอิน-เอาท์ การเข้าออกการรับบริการจากร้านต่างๆ โดยกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (ข้อมูลจากวันที่ 19 พ.ค.63 เวลา 21.00 น.)

ร้านค้าลงทะเบียน 67,904 ร้าน
จำนวนผู้ใช้งาน 5,077,978 คน

จำนวนการเข้าใช้งาน
- เช็กอิน 8,584,803 ครั้ง
- เช็กเอาท์ 6,359,921 ครั้ง
- ประเมินร้าน 3,984,691 ครั้ง

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวเพิ่มเติมเกี่ยวกับการใช้งานแพลตฟอร์มไทยชนะ กรณีเข้าใช้บริการแล้วต้องมีการสแกนคิวอาร์โค้ดหลายรอบ เช่น เข้าไปในห้างสรรพสินค้าสแกนตั้งแต่ทางเข้า และเมื่อเข้าไปในร้านย่อยภายในห้างก็ต้องสแกนทุกครั้งไม่ว่าจะเข้าไปในร้านใด เพราะภายในห้างสรรพสินค้าสามารถรองรับคนได้หลายหมื่นคน

หากมีคนติดเชื้อมีประวัติเข้าไปในห้างการจะติดตามคนหมื่นกว่าคนมาตรวจเป็นเรื่องลำบาก แต่หากทุกคนสแกนคิวอาร์โค้ดเข้าไปในร้านย่อยทำให้การสืบสวนโรคเฉพาะคนที่เข้าไปสัมผัสใกล้ชิดในบริเวณนั้นอาจจะมีผู้คนเพียงหลักสิบหรือร้อยคน จึงเป็นความสำคัญของการเช็กอิน - เช็กเอาท์ย่อย ระบบออกแบบมาเพื่อให้เกิดประโยชน์กับทุกคนโดยไม่ต้องกักตัวคนเป็นจำนวนมากเพื่อให้ประชาชนได้มีอิสระในการใช้ชีวิตต่อจึงขอให้ทุกคนร่วมมือกัน

ส่วนการต้องเก็บข้อมูลของผู้เข้าใช้บริการไว้เป็นเวลา 60 วันนั้น กรมควบคุมโรคใช้ข้อมูลและประสบการณ์จากสถานการณ์ย้อนหลังที่เกิดเป็น Super spreader ในสนามมวย เกิดการติดเชื้อตามรุ่นและเฝ้าดูอาการ 14 วัน และเกิดการติดเชื้อยังรุ่นต่อไปจึงนับเป็น 60 วันในการเฝ้าระวังติดตาม.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง
Top